โครงการ *1677 ทางด่วนข้อมูลการเกษตร


    จากแนวทางความคิดในการดำเนินธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม ภายใต้โครงการทำดีทุกวันจากดีแทค ในการทำกิจกรรมที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้เกิดเป็นโครงการดีๆ ที่ได้มีการนำเอาความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีสื่อสารมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยได้ร่วมมือกับทางพันธมิตร ร่วมด้วยช่วยกัน...คลื่นความดี (DFM) ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับทางด้านการเกษตรมากว่า 20 ปี โดยตั้งเป็นบริการสายด่วน *1677 ทางด่วนข้อมูลการเกษตร และได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2551

    วัตถุประสงค์หลักของโครงการ 
    • เป็นการใช้เทคโนโลยีสื่อสารเชื่อมโยงโครงข่ายเกษตรกร ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตร 
    • สืบสานเจตนารมณ์ด้าน CSR ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
    • ให้บริการส่งข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตร พร้อมให้คำปรึกษาความรู้ทางการเกษตร  ผ่านช่องทางการสื่อสารทั้งที่เป็นเว็บไซต์, บริการ SMS, MMS, Voice Call, Call Center และ Social media ต่างๆ พร้อมทั้งมีการลงพื้นที่จัดสัมมนา และทำWorkshop

    โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น เกษตรกรไทยทั่วประเทศ ผู้นำชุมชน สถาบันการศึกษา และประชาชนที่สนใจทั่วไป ซึ่งข้อมูลข่าวสารที่ส่งจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นเทคนิคทางด้านการเกษตรใน 3 หมวดหลัก คือ ข้าว พืช และสัตว์ ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการและเป็นสมาชิกอยู่กว่า 220,000 ราย มีเกษตรกรระดับปราชญ์ชาวบ้านที่มาร่วมแบ่งปันภูมิปัญญาด้านการเกษตร 132 ราย และขยายความร่วมมือไปสู่ภูมิภาคอาเซียนโดยมีผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ของแต่ละประเทศเข้ามาร่วมอีก  9 ราย

    ในปี 2554 มีเป้าหมายสมาชิก 250,000 ราย พร้อมทั้งมีพันธมิตรที่ทำธุรกิจทางด้านการคมนาคมขนส่ง ตลอดจน Logistic เข้ามาร่วม นอกจากนี้จะนำเทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัยมาใช้ในลักษณะที่เป็น E-commerce on Internet

    จะเห็นว่าองค์กรได้นำเอาความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงกับความรู้ เพื่อมาพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในกลุ่มต่างๆ  ในที่นี้ คือ เกษตรกร ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนของประชากรที่มีมากที่สุดในประเทศ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้  และมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนบนรากฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นการทำธุรกิจด้วยความห่วงใย และใส่ใจต่อสังคมและชุมชน

    DTAC02_01   DTAC02_02   DTAC02_03

ผลลัพธ์ : เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน