เอสซีจีรักษ์น้ำ...เพื่ออนาคต


    สืบเนื่องจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “น้ำคือชีวิต” และจากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาเรื่องน้ำ  เอสซีจีจึงได้จัดทำโครงการเอสซีจีรักษ์น้ำ...เพื่ออนาคต เพื่อร่วมแก้ปัญหาน้ำขาด น้ำเกิน น้ำเสีย  และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

    การสร้างฝายชะลอน้ำ (Check Dam) เป็นอีกหนึ่งวิธีในการอนุรักษ์น้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ระบบนิเวศ  เอสซีจีจึงร่วมกับชุมชนสร้างฝายชะลอน้ำในร่องน้ำแห้งหรือลำธาร โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ก้อนหิน กิ่งไม้ ท่อนไม้ ไม้ไผ่ เพื่อชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง สามารถเก็บความชุ่มชื้นและน้ำบางส่วนไว้ได้ในหน้าฝน ส่งผลให้สภาพแวดล้อมกลับคืนสู่สมดุลแบบง่าย ๆ 

    เอสซีจีและชุมชนไม่ได้มุ่งเน้นที่จำนวนฝายที่สร้างเป็นสำคัญ  แต่มุ่งหวังให้เกิดกระบวนการ “สร้างฝายในใจคน” หรือกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยสร้างจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์น้ำให้เกิดขึ้นในใจของทุกคน  ซึ่งคนในชุมชนมีบทบาทเป็นผู้กำหนดทิศทางการบริหารจัดการและดำเนินการอนุรักษ์น้ำด้วยตนเอง  กระบวนการนี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนในชุมชนพูดคุยกันมากขึ้น  มีการสร้างเวทีในการค้นหาปัญหา วางแผนหาแนวทางแก้ไข  ดำเนินการ และแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด  โดยที่เอสซีจีกับองค์กรภาคีร่วมทำหน้าที่เป็นเพียงพี่เลี้ยงหรือผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ในสิ่งที่ชุมชนต้องการเท่านั้น  ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจของชุมชน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการพัฒนาที่ปัญญา (Wisdom)  ทำให้เกิดความเติบโตได้อย่างยั่งยืน

    ปัจจุบันเอสซีจีร่วมกับชุมชน และเครือข่ายกัลยาณมิตรกว่า 35,000 คน ได้สร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วกว่า 26,000 ฝาย  อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีพิกัดระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์อย่างชัดเจน (Geographic Information System: GIS)  ได้แก่ จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ แพร่ น่าน สระบุรี ระยอง กาญจนบุรี ราชบุรี นครศรีธรรมราช และขอนแก่น 

    ผลจากการสร้างฝายชะลอน้ำแล้ว 5 ปี  คือ ไฟป่าลดลง จากปีละ 200-300 ครั้ง เหลือ 4-6 ครั้ง  ชุมชนมีน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทำให้ปลูกพืชได้ทั้งปี และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกหนัก  น้ำท่วมในจังหวัดลำปาง แต่ว่าฝายชะลอน้ำได้ช่วยชะลอน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ที่มีการสร้างฝาย  นอกจากนั้น ป่ายังกลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชนเพราะมีผักพื้นบ้านขึ้นหลายชนิด สัตว์ต่าง ๆ กลับเข้ามาอาศัย เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ  ชาวบ้านจึงเข้าไปเก็บผลผลิตจากป่า เช่น เห็ด ผักหวาน น้ำผึ้ง สมุนไพร มาขาย  บางครอบครัวได้เปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวพัก ชุมชนจึงมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานกลับมาทำงานที่บ้านเกิด และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ ความสุขที่เกิดขึ้นในชุมชน

    ในโอกาสที่เอสซีจีจะครบรอบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2556 จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างฝายชะลอน้ำร่วมกับชุมชน   ให้ครบ 50,000 ฝาย เพื่อให้ป่าต้นน้ำของไทยกลับคืนสู่ความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

    ประโยชน์ของการสร้างฝายชะลอน้ำ

    ทางตรง
    • ช่วยให้ดินชุ่มชื้น ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ คืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศ เช่น พบนกเพิ่มขึ้น จาก 78 ชนิด (ปี 2535) เป็น 155 ชนิด (ปี 2553) และพบสัตว์ป่าใกล้สูญพันธ์ 4 ชนิด คือ นกยูง เหยี่ยวดำ เต่านา และเม่นใหญ่ ที่บริเวณป่าอนุรักษ์และป่ารอบโรงงานปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง
    • ลดความรุนแรงของกระแสน้ำที่ไหลหลาก ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในช่วงหน้าฝน
    • ช่วยดักตะกอนที่ไหลมากับน้ำ ทำให้น้ำใสและมีคุณภาพดีขึ้น
    • ชุมชนมีน้ำใช้อย่างพอเพียงในหน้าแล้ง สามารถเพาะปลูกการเกษตรได้ตลอดปี
    • เป็นแนวกั้นไฟป่า ลดความรุนแรงของไฟ

    ทางอ้อม
    • คืนอาชีพ สร้างรายได้ ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
    • ลูกหลานกลับมาอยู่บ้าน คืนความอบอุ่นสู่ครอบครัว
    • รู้รักสามัคคี แก้ไขปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง และก่อให้เกิดปัญญา

    SCG010_01 SCG010_02 SCG010_03

ผลลัพธ์ :  ป่าได้รับการฟิ้นฟู และเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ คืนความสดุลให้กับระบบนิเวศ