ในการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ทันสมัยมีประสิทธิภาพนั้น บริษัท บางจากฯ องค์กรผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการจัดหานวัตกรรมเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการบริหารงานด้วยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในรูปของบัญชี ที่เรียกว่า “ บัญชีค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Cost Accounting) ” ซึ่งนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งใน “รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ของบริษัทฯ
การจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งของบัญชีการบริหารด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Management Accounting) จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารต้นทุนและการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยจะแสดงต้นทุนในการดูแลสิ่งแวดล้อมของสายการผลิต ซึ่งดูแลกระบวนการผลิตน้ำมัน และเป็นกิจกรรมหลักที่เกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อมโดยตรง รวมถึงคลังน้ำมันของบางจาก ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในหมวด ต่างๆ ตาม International Federation for Accountants (IFAC) ดังนี้
หมวดที่ 1 ค่าใช้จ่ายวัตถุดิบที่ติดไปกับผลิตภัณฑ์ (Material Costs of Product Outputs) หมายถึง วัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตและออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายได้ เช่น น้ำมันดิบ เอทานอล สารเคมี น้ำที่ใช้ในการผลิต ฯลฯ
หมวดที่ 2 เป็นค่าใช้จ่ายวัตถุดิบที่ไม่ติดไปกับผลิตภัณฑ์ (Material Costs of Non-Product Outputs) หมายถึง วัตถุดิบต่างๆที่ใช้ในการผลิต ซึ่งออกมาเป็นของเสียแทนที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพ น้ำทิ้ง ตะกอนจากถังน้ำมัน กำมะถันที่ไม่ได้คุณภาพ
หมวดที่ 3 เป็นค่าใช้จ่ายเพื่ออุปกรณ์ควบคุมมลพิษ (Waste and Emission Control Costs) เป็นค่าใช้จ่ายในการบำบัดมลพิษต่างๆ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการบำบัดอากาศเสีย น้ำเสีย กากของเสีย ตลอดจนค่าบำรุงรักษาและค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์นั้นๆ
หมวดที่ 4 ค่าใช้จ่ายในการป้องกันสิ่งแวดล้อม (Prevention and other Environmental Management Costs) เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการ ป้องกันการเกิดมลพิษ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายการติดตามด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเฝ้าระวังมิให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายในระบบจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ISO 14000 และหมวดสุดท้ายได้แก่ ประโยชน์ของผลผลิตพลอยได้และมูลค่าจากการนำของเสียมาใช้ใหม่ (Benefit from by-product and waste recycling)
จากการจัดทำบัญชีรายงานค่าใช้จ่ายสิ่งแวดล้อมตามหมวดต่างๆ ดังข้างต้นซึ่งรวมถึงการควบคุมมลพิษและการป้องกันสิ่งแวดล้อมนี้ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรและเสริมสร้างศักยภาพในกระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากกระบวนการผลิต
สามารถบริหารจัดการกับทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สามารถบริหารจัดการกับของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตได้
ค่าใช้จ่าย ค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ด้านสิ่งแวดล้อมลดลง
มีรายได้ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน
เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นพลังงานสะอาดยิ่งขึ้น จากการติดตามและตรวจวัดคุณภาพผลิตภัณฑ์