ทีมงานสถาบันไทยพัฒน์ รับรางวัล "ASEAN Golden Green Award 2011"



golden-green-award


เมื่อเร็วๆ นี้ หอการค้ามาเลเซีย-จีน จัดงาน Malaysia-China Trade and Investment International Conference (MCTIIC) 2011 ขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีผู้เข้าร่วมงานนับพันคน ทำให้ผมได้ความรู้ว่ามูลค่าทางการค้าระหว่างมาเลเซียและจีนนั้น มีตัวเลขสูงกว่าที่จีนค้าขายกับไทยเสียอีก

ในงานนี้ ภาคราชการมีส่วนร่วมอย่างคึกคักและกระตือรือร้น ผู้รับผิดชอบแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridor) ทั้ง 5 แห่ง ต่างมานำเสนอข้อมูลกันอย่างพร้อมเพรียง มีการชี้แจงเนื้อหาในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ที่เริ่มเมื่อ 1 ม.ค. 53 ซึ่งเป็นข้อตกลง FTA ฉบับแรกของอาเซียน และของจีน ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ได้ใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงฉบับนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เหตุที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานนี้ เนื่องจากมีงานคู่ขนานที่หอการค้ามาเลเซีย-จีน (MCCC) จัดร่วมกับสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีของอาเซียน (AAET) เพื่อมอบรางวัล Golden Green Award 2011 ให้แก่ผู้ที่มีผลงานโดดเด่นใน 6 ด้าน ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับปรุงคุณภาพอากาศ การปกป้องพื้นที่ แหล่งน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ การลดกากของเสีย การประกอบการ/นักบริหารสีเขียว การส่งเสริมแนวคิดสีเขียวหรือความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะ การดำเนินการของชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยอาสาสมัครและสมาชิกในองค์กรไม่แสวงหากำไร

วัตถุประสงค์ของรางวัลนี้ เพื่อต้องการยกย่องผู้ประกอบการสีเขียวรุ่นเยาว์ และผู้สร้างคุณประโยชน์รุ่นเยาว์ต่อการพัฒนาในบริบทของการเติบโตสีเขียว (Green Growth) ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีที่ได้รับการเสนอชื่อจากประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีผลงานทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นที่ประจักษ์

ที่จริงเรื่องการเติบโตสีเขียว ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ประกอบด้วยสมาชิก 34 ประเทศ พัฒนาเพื่อสนับสนุนกลไกแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2552 ในการประชุมคณะมนตรีในระดับรัฐมนตรีที่เป็นผู้แทนของรัฐบาล 34 ประเทศ และกลุ่มประชาคมยุโรป ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในปฏิญญาแห่งการเติบโตสีเขียว (Declaration on Green Growth) ที่รับรองหนทางสู่ความเป็นสีเขียวและการเติบโตที่สามารถไปด้วยกันได้ (“green” and “growth” can go hand-in-hand)

ในภูมิภาคเอเชีย เห็นจะมีประเทศเกาหลีใต้ และประเทศมาเลเซีย ที่นำเรื่องการเติบโตสีเขียว มาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศตามเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างชัดเจน

ในงาน สถาบันไทยพัฒน์ได้เสนอชื่อคุณวรณัฐ เพียรธรรม หนึ่งในทีมงานผู้พัฒนาและเผยแพร่กลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว หรือ Green Ocean Strategy เข้าร่วมชิงรางวัลในด้านการส่งเสริมแนวคิดสีเขียวหรือความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะ โดยนำเสนอกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว ให้แก่คณะกรรมการพิจารณารางวัล ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ จำนวน 17 ท่าน และเป็นที่น่ายินดีว่า คุณวรณัฐ เป็นผู้แทนจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ Golden Green Award ร่วมกับผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อีก 9 ประเทศ โดยมี Datuk Seri Peter Chin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เทคโนโลยีสีเขียว และทรัพยากรน้ำ เป็นผู้มอบรางวัล

สำหรับรางวัล Grand Champion of the ASEAN Golden Green Award ตกเป็นของ Adeline Tiffanie Suwana สาวน้อยอายุเพียง 15 ปีจากอินโดนีเซีย ในด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เธอขับเคลื่อนภายใต้ชื่อ “Sahabat Alam” movement ด้วยความมุ่งมั่นที่เกิดขึ้นจากที่เธอได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วมในบ้านเกิด อันเป็นผลทำให้เธอได้เรียนรู้เรื่องภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และก่อตั้งองค์กรภาคเอกชน (NGO) ของเธอตั้งแต่อายุเพียง 10 ปี

และต้องขอขอบพระคุณ ดร.ไชยยศ บุญญากิจ แห่งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่เป็นผู้แนะนำและให้คำอ้างอิงสำหรับการเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ด้วย


แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 22 กันยายน 2554