โครงการ One Cell One Project (OCOP) ริเริ่มขึ้นจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ในเอสซีจี ซิเมนต์ ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานในแต่ละหน่วยงาน (Cell) ได้ร่วมกลุ่มกันทำโครงการ (Project) เพื่อสังคมให้แก่ชุมชนที่อยู่รอบโรงงาน โดยแต่ละหน่วยงานต้องเข้าไปค้นหาว่า ชุมชนต้องการที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ในด้านใด และมีวิธีการใดที่จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เรียกว่า เป็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง (Real Need)
นอกจากพนักงานจะรวมกลุ่มกันทำโครงการต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ คือ ความร่วมมือร่วมใจของชุมชน โดยชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มทำโครงการ ได้แก่ ร่วมคิด ค้นหาสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง กำหนดวิธีการ และแนวทางในการแก้ปัญหานั้น ๆ พร้อมกับพนักงานเอสซีจี และเมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการดูแล รักษา เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
โครงการที่จัดทำขึ้นในระยะแรก ๆ จะเป็นการพัฒนาระบบการศึกษา การซ่อมบำรุงอาคาร ห้องสมุด จัดทำโครงการอาหารกลางวัน และเมื่อโครงการ OCOP ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงได้ขยายผลโครงการไปสู่โรงงานปูนซีเมนต์ในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ โรงงานปูนซีเมนต์ ท่าหลวง โรงงานปูนซีเมนต์ ลำปาง โรงงานปูนซีเมนต์ ทุ่งสง และยังได้ขยายรูปแบบของโครงการที่จะจัดทำให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะด้านการศึกษา เช่น โครงการด้านอาชีพ สาธารณสุข ศาสนา โดยให้พนักงานและชุมชนร่วมกันพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ในแต่ละชุมชน
ปัจจุบัน เอสซีจี ซิเมนต์ได้ดำเนินโครงการ OCOP ไปแล้วกว่า 200 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาการศึกษาและโรงเรียน การสร้างห้องสมุด การฝึกอาชีพให้กับแม่บ้าน โครงการเกษตรอินทรีย์ โรงเรียนปลอดขยะ โครงการผลิตไบโอแก๊สจากเศษอาหาร การซ่อมบำรุงศาสนสถานและสาธารณสมบัติของชุมชน การสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร โรงผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน หอกระจายข่าว รวมถึงโครงการปลูกป่า และโครงการสร้างฝายชะลอน้ำ
สิ่งที่ได้รับจากดำเนินโครงการ OCOP คือ พนักงานและชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาตนเองร่วมกัน เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างชุมชนและโรงงาน พนักงานจะได้รับฟังความคิดเห็นของชุมชน หรือรับข้อร้องเรียนต่าง ๆ มาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันชุมชนยังเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมในการพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้แบบพึ่งพาตัวเอง ซึ่งเป็นไปตามปณิธานของเอสซีจีที่จะสร้างความเจริญอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนในทุกพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจด้วย